E-Commerce หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการทำธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยี หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาช่วยในด้านของการจัดจำหน่ายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้าเพื่อให้รู้จักในวงกว้าง และการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทำได้รวดเร็ว ที่จะเข้ามาช่วยลดระยะเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพในการขายให้มากขึ้น โดยการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการทำการค้าออนไลน์นั้น ได้รับความสนใจมากขึ้นหลังจากที่กระแสการขายของออนไลน์เริ่มได้รับความนิยม และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน โดยประเภทของ อีคอมเมิร์ซ หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีดังนี้
1. ธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business – B2B) คือการทำการค้าระหว่างธุรกิจด้วยกัน ซึ่งเป็นการทำการค้าในรูปแบบของการขายส่ง หรือการสั่งซื้อ เพื่อนำไปขายต่อ
2. ธุรกิจกับผู้บริโภค (Business to Consumer – B2C) คือการทำการค้าระหว่างธุรกิจกับลูกค้าโดยตรง หรือก็คือการซื้อขายตามปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป
3. ผู้บริโภคกับผู้บริโภค (Consumer to Consumer – C2C) คือการติดต่อ หรือทำการค้าของผู้บริโภคกันเอง อาจมาในรูปแบบของการขายต่อ ประกาศขาย บนหน้าเว็บไซต์
4. ธุรกิจกับภาครัฐ (Business to Government – B2G) คือการทำการค้าระหว่างธุรกิจกับภาครัฐ คือการจัดจ้างซ่อมบำรุง หรือการจัดซื้ออุปกรณ์ที่ภาครัฐต้องการใช้ ซึ่งในประเทศที่มีการพัฒนามักจะทำการจัดจ้าง จัดซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย และประหยัดค่าใช้จ่าย
5. ภาครัฐกับประชาชน (ผู้บริโภค) (Government to Consumer – G2C) หรือก็คือการบริการของภาครัฐผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปสู่ประชาชน ซึ่งในปัจจุบันจะเป็นการการบริการในรูปแบบของการให้ข้อมูล การคำนวณภาษี หรือข้อมูลติดต่อตามสถานที่ราชการต่างๆ
แนวโน้มของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ในปัจจุบันผู้คนจำนวนมากยังคงซื้อสินค้าตามร้านค้า หรือตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่าร้านค้าออนไลน์ทั่วไป แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตการช้อปปิ้งออนไลน์จะเติบโตมากขึ้นโดย 56% จะมาจากกลุ่ม Gen Xers และ 67% ของประชากรนับพันล้านคนในสหรัฐ ซึ่งข้อมูลข้างต้นนี้ถือเป็นได้ว่าเป็นแนวโน้มของผู้คนที่จะเข้ามาซื้อสินค้าแบบออนไลน์มากที่สุด
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่คุณไม่ควรพลาดเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซก็คือการเติบโตของคอมเมิร์ซบนมือถือที่สูงขึ้นถึง 300% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยสามารถสร้างรายได้ถึง 700 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 17.5% ของยอดค้าปลีกทั่วโลกภายในปี 2564 และยอดขายที่เกิดขึ้นก็คาดว่าจะสูงถึง 4,878 พันล้านในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ข้อดีของ อีคอมเมิร์ซ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
– ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากการทำเว็บไซต์นั้นมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการลงทุนเปิดธุรกิจในรูปแบบอื่น และในปัจจุบันก็มีเว็บไซต์ที่เปิดให้สร้างร้านค้าออนไลน์ฟรีโดยสามารถใส่ข้อมูลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่อาจมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
– เมื่อคุณทำธุรกิจออนไลน์ หรือธุรกิจแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ข้อจำกัดในเรื่องของเวลาก็จะลดลง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชม หรือสั่งซื้อสินค้าที่ลูกค้าสามารถทำได้ตลอดเวลา ตามที่ลูกค้าสะดวก
– มีระบบการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต หรือการชำระเงินผ่านเว็บไซต์ ที่ทำให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น
– บริหารข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนสินค้า ลดจำนวนสินค้าตามหน้าเว็บไซต์ ปรับเปลี่ยนราคา ได้อย่างทันท่วงที หรือทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึง
– ลูกเล่นในเว็บไซต์ที่หลากหลาย การทำเว็บไซต์ไม่ได้มีแค่รูปภาพ และตัวหนังสือเท่านั้น เพราะในปัจจุบันคุณสามารถใส่ภาพเคลื่อนไหว เสียงประกอบ หรือการใส่ลูกเล่นที่น่าสนใจอีกหลายๆ แบบ
– มีข้อมูลที่แม่นยำที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ เพราะการทำเว็บไซต์สามารถตรวจสอบสถิติการเข้าชม ระยะเวลาในการเข้าชม และข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ในด้านต่างๆ ของการทำธุรกิจออนไลน์ได้
– เพิ่มโอกาสในการขาย หรือโอกาสในการแนะนำสินค้าออกสู่ตลาดให้มากขึ้น เพราะอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นในปัจจุบัน
ข้อเสียของ อีคอมเมิร์ซ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
– หากธุรกิจมีขนาดใหญ่จำเป็นจะต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาข้อมูลที่สำคัญทางธุรกิจ
– ประเทศไทยไม่มีธนาคารที่รองรับความเสี่ยง สำหรับการชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีต่างๆ จึงทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น มีความเสี่ยงอยู่พอสมควร
– การแข่งขันค่อนข้างสูงในปัจจุบัน เพราะการทำธุรกิจออนไลน์สามารถทำได้ง่าย และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำจึงทำให้หลายๆ คนหันมาทำธุรกิจออนไลน์มากขึ้น
– ต้องใช้เวลาหากต้องการความเชื่อมั่น การทำธุรกิจออนไลน์หากเริ่มต้นใหม่จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งบางธุรกิจอาจใช้ระยะเวลาแค่ช่วงสั้นๆ แต่บางธุรกิจอาจใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาว แล้วแต่แนวทางการที่ได้วางแผนไว้
– ไม่สามารถเห็น หรือสัมผัสสินค้าจริงได้ เพราะเป็นการขายสินค้าออนไลน์จึงทำให้ลูกค้าไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นหรือ สัมผัสสินค้าจริงก่อนการตัดสินใจซื้อ
– เนื่องจากในปัจจุบันลูกค้าสามารถพบเห็น กลโกงในการซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ ที่เพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ โดยบางครั้งผู้เสียหายก็ไม่สามารถเอาเงินคืน หรือดำเนินคดีได้ จึงทำให้กลุ่มลูกค้าระมัดระวังตัวในการซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คุณก็คงจะได้ทราบกันแล้วว่าความหมาย และประโยชน์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซนั้นมีอะไรบ้าง หากคุณต้องทำการเลือกรูปแบบการทำธุรกิจที่น่าสนใจ ในอนาคตก็อย่าลืมนำการทำธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซ ไปเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการตัดสินใจนะคะ
cr.https://www.am2bmarketing.co.th/web-development-article/meaning-benefits-e-commerce/